สถาบันวิจัยและพัฒนา จับมือสำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมเพิ่มขีดความสามารถนักวิจัยในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ เทียบเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาตนเองสู่เวทีวิชาการระดับสากล 
     เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถนักวิจัยในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมในการผลิตผลงานวิชาการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระชัย แสงฉาย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งทางคณะผู้จัดงานได้เชิญ รศ.ดร.ศุภกรณ์ ภู่เจริญศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันภาษา และบรรณาธิการวารสาร LEARN มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์แก่ผู้เข้าร่วมอบรม 
     เนื้อหาการอบรมครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การเขียนบทความวิจัยอย่างมืออาชีพ การปรับโครงสร้างเนื้อหาให้เหมาะสมกับวารสารระดับชาติและนานาชาติ เทคนิคการตอบคำถามหรือคำแนะนำจากบรรณาธิการวารสาร (Peer Review) เพื่อเพิ่มโอกาสในการตีพิมพ์ผลงานให้สำเร็จลุล่วง โดยได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักวิจัย จากหลากหลายสาขาวิชาของ มรภ.สงขลา เข้าร่วมการอบรมเป็นจำนวนมาก บรรยากาศการอบรมเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นในการเรียนรู้ ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมต่างเห็นพ้องว่าโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความรู้ด้านการวิจัยเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการพัฒนาตนเองให้ก้าวสู่เวทีวิชาการระดับสากลอีกด้วย
     รศ.ดร.วีระชัย กล่าวว่า การเผยแพร่ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ มรภ.สงขลา ที่จะช่วยยกระดับชื่อเสียงและความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิชาการทั่วโลก ดังนั้น การอบรมในครั้งนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของ มรภ.สงขลา ในการผลักดันให้นักวิจัยมีศักยภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป
     ด้าน ผศ.อภิชาติ พันชูกลาง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมและการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้น ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลระดับนานาชาติ เช่น Scopus และ Web of Science
     ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
      ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ird.skru.ac.th/2558/photo.php?id=135 

ข้อมูลและรูป โดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

By Kasima

ใส่ความเห็น

ประเด็น

📍ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เผยการถอดถอน “สจ.กอล์ฟ” พ้นตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามมติสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล จะเร่งส่งหนังสือให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายต่อไป.จากกรณีที่นายสิรดนัย พลายด้วง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หรือ สจ.กอล์ฟ ถูกกล่าวหาว่าสั่งการให้ลูกน้องรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยเลือกตั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน หลังเข้าไปตักเตือนเรื่องการห้ามถ่ายภาพภายในหน่วยเลือกตั้งนั้น.นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ในเขตอำเภอเมืองสงขลา โดยตนได้มอบหมายให้นายอำเภอเมืองสงขลา ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ในฐานะเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ซึ่งเป็นภารกิจตามหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายปกครอง ขณะนี้การดำเนินการของจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย.สำหรับความคืบหน้า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลา ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสนับสนุนกระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ การพิจารณาคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายตุลาการ.ในส่วนของการพิจารณาถอดถอนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ในข้อบัญญัติในเรื่องของสภาว่าในมาตรา 11 (7) ว่า “สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือกระทำอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาองค์การบริหารจังหวัดพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติ ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายนิติบัญญัติ องค์การบริหารส่วนจังหวัด”.ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามมาตรา 77 โดยจะมีหนังสือแจ้งไปยังสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.ในกรณีที่มีข้อมูลปรากฏว่าอาจมีการใช้วุฒิการศึกษาปลอมจากประเทศมาเลเซียเพื่อใช้ในการสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคุณวุฒิเดิมนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา (กกต.สงขลา) ตรวจสอบข้อมูลการยื่นสมัครเลือกตั้ง รวมถึงเอกสารและวุฒิการศึกษาที่ใช้ประกอบการสมัคร นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดสงขลาตรวจสอบว่าใช้วุฒิจากสถาบันใด โดยอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ หากพบว่าเอกสารเป็นเท็จ ก็จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป